จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์
ตอนที่ ๑ เครื่องนุ่งห่ม และรูปร่างหน้าตาของชาวสยาม…
๑. ชาวสยามนุ่งห่มผ้าน้อยชิ้นเพราะร้อน และเพราะความเป็นอยู่ง่ายๆ ชาวสยามไม่ค่อยหุ้มห่อร่างกายมิดชิดนัก
๒. ผ้านุ่งเครื่องนุ่งห่มของชาวสยาม ชาวสยามไม่ใส่รองเท้าไม่สวมหมวก พันเอวและขาอ่อน ถึงใต้หัวเข่าด้วยผ้ามีดอกดวงยาวประมาณ ๒ โอนครึ่ง (๑.๑๘ เมตร) บางครั้งก็ใช้ชิ้นผ้าไหมเกลี้ยงๆ หรือทอที่ริมเป็นลายทองลายเงิน
๓.ขุนนางใช้เสื้อคลุมผ้ามัสลินเป็นเสื้อชั้นนอก พวกขุนนางนอกจากนุ่งผ้าแล้วยังสวมเสื้อครุยมัสลินคลุม (ถึงเข่า) เขาจะเปลื้องมันออกแล้วม้วนพันไว้กับบั้นเอว เมื่อเข้าไปหาขุนนางผู้ใหญ่ที่มียศศักดิ์สูงกว่าตน นอกนั้นบรรดาขุนนางที่เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสยามคงนุ่งห่มเสื้อผ้าเต็มยศตามธรรมเนียม ขุนนางสยามเมื่อมีงานพระราชพิธีต้องสวมหมวกลอมพอกสูงมียอดแหลม
๔. ผ้าคลุมกันหนาว ในฤดูหนาวชาวสยามใช้ผ้าตามความกว้างหรือผ้าลินินมีดอกดวงคลุมไหล่โดยพันชายผ้าไว้กับลำแขน
๕. พระเจ้ากรุงสยามฉลองพระองค์อย่างไร ทรงใช้ฉลองพระองค์ด้วยผ้าเยียรขับอย่างงาม แขนฉลองพระองค์แดงมากปรกมาถึงข้อพระหัตถ์ ทำนองเดียวกับเสื้อที่เราใช้ได้เสื้อคลุม ทรงฉลองพระองค์นั้นไว้ภายใต้ฉลองพระองค์ครุย มีการปักอย่างวิจิตรต่างแบบลวดลายกันกับในยุโรป ชาวสยามคนใดจะใช้เสื้อเปิดนี้ไม่ได้ นอกจากพระองค์จะพระราชทานให้ ซึ่งจะพระราชทานให้เฉพาะขุนนางที่มีบรรดาศักดิ์สูงเท่านั้น
หมายเหตุ
- จดหมายเหตุลาลูแบร์ (ฝรั่งเศส: “Du Royaume de Siam” แปลตามตัวคือ “ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม”) เป็นจดหมายเหตุพงศาวดารที่กล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. ๒๒๓๐ โดย มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ อัครราชทูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาทูลพระราชสาส์น ณ ประเทศสยาม ได้พรรณาถึงกรุงศรีอยุธยาไว้อย่างกว้างขวาง แม้ว่าเขาจะอยู่เพียง ๓ เดือน ๖ วัน จึงต้องอาศัยความรู้จากหนังสือที่ชาวตะวันตกซึ่งมากรุงสยามแต่ก่อนแต่งไว้อย่างคลาดเคลื่อนบ้าง สอบถามจากคนที่ไม่มีความรู้บ้าง ฟังจากคำบอกเล่าซึ่งจริงบ้างไม่จริงบ้าง บางเรื่องก็คาดเดาเอาเอง
จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับแปลในประเทศไทยมีอยู่ ๒ ฉบับ คือ ฉบับที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรวรรณากร กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงพระนิพนธ์แปล โดยทรงแปลมาจากฉบับภาษาอังกฤษ และฉบับแปลของสันต์ ท.โกมลบุตร จากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส
- มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์ได้ออกเดินทางจากท่าเรือเมือง เบรสต์ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๒๓๐ มาทอดสมอที่กรุงสยาม เมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน พ.ศ. ๒๒๓๐ เดินทางกลับเมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ. ๒๒๓๑ ขึ้นบกที่ท่าเรือเมืองเบรสต์ เมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๒๓๑
ความมุ่งหมายในการเขียน เพ่งเล็งในด้านอาณาเขต ความอุดมสมบูรณ์ คุณภาพของดินในการกสิกรรม ภูมิอากาศเป็นประการแรก ต่อมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีโดยทั่ว ๆ ไป และเฉพาะเรื่องเฉพาะราย เรื่องเกี่ยวกับรัฐบาล และศาสนาจะกล่าวในตอนท้าย และได้รวบรวมบันทึกความทรงจำ เกี่ยวกับประเทศนี้ ที่เขาได้นำติดตัวมาด้วยไปผนวกไว้ตอนท้าย และเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้จักชาวสยามโดยแจ่มชัด จึงได้เอาความรู้เกี่ยวกับอินเดีย และจีนหลายประการมาประกอบด้วย นอกจากนั้นยังได้แถลงว่าจะต้องสืบเสาะให้รู้เรื่องราว พิจารณาสอบถาม ศึกษาให้ถึงแก่นเท่าที่จะทำได้ ก่อนเดินทางไปถึงประเทศสยาม ได้อ่านจดหมายเหตุทั้งเก่าและใหม่ บรรดาที่มีผู้เขียนขึ้นไว้เกี่ยวกับประเทศต่างๆ ในภาคพื้นตะวันออก ถ้าไม่มีสิ่งดังกล่าว เขาอาจใช้เวลาสักสามปี ก็คงไม่ได้ข้อสังเกต และรู้จักประเทศสยามดี
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น