เซอร์จอห์น เบาว์ริงกับสนธิสัญญาเบาว์ริง
Image result for เซอร์ จอห์น เบาริ่ง
สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไทยต้องเริ่มเผชิญหน้ากับลัทธิจักรวรรดินิยมตะวันตกที่แพร่ขยายไปส่วนต่าง ๆ ของโลก ทำให้พระองค์ทรงตระหนักว่าไทยต้องยอมเปิดสัมพันธ์กับประเทศตะวันตกโดยการทำสนธิสัญญาในลักษณะใหม่ที่ทำให้ไทยต้อง “เสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล” และมีเรื่อง “สิทธิสภาพนอกอาณาเขต” เกิดขึ้น สนธิสัญญาลักษณะใหม่ดังกล่าวนี้ คือ สนธิสัญญาเบาว์ริงที่ไทยทำกับอังกฤษ
ก่อนหน้าการทำสนธิสัญญาเบาว์ริงอังกฤษเคยเข้ามาขอเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรี และการค้ากับสยามตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โดยส่งจอห์น ครอว์เฟิด เข้ามาเจรจาใน พ.ศ. 2364 แต่การเจรจาครั้งนั้นไม่สำเร็จ สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่อังกฤษส่งเฮนรี เบอร์นี เข้ามาอีกครั้งหนึ่ง การเจราจาครั้งนี้ประสบผลสำเร็จทั้งสองฝ่ายตกลงทำสนธิสัญญากันใน พ.ศ. 2369 แต่อังกฤษไม่พอใจเนื่องจากไทยไม่ได้ยกเลิกระบบพระคลังสินค้าและยังเก็บภาษีเพิ่มอีก 38 อย่าง อังกฤษพยายามเจราจาขอแก้ไขสนธิสัญญาหลายครั้งแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ (พ.ศ 2394 – 2411) สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียแห่งอังกฤษทรงแต่งตั้งเซอร์ เบาว์ริง เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มเชิญพระราชสาสน์มาเจรจาทำสนธิสัญญาทางไมตรีกับไทยในพ.ศ. 2398 การเจรจาครั้งนี้รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฝ่ายสยาม 5 คน คือ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงวงศาธิราชสนิท สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิไชยญาติ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์และเจ้าพระยารวิวงศ์ (ต่อมาเปลี่ยนเป็นทิพากรวงศ์) เป็นผู้แทนการเจรจา การเจรจาครั้งนี้ประสบความสำเร็จด้วยดี เนื่องจากรัชกาลที่ 4 ได้โปรดเกล้าฯให้เซอร์จอห์น เบาริงเข้าเฝ้าเพื่อเป็นการเจรจากันภายในก่อน ขณะเดียวกันสถานการณ์รอบด้านในเวลานั้น เช่น การที่จีนต้องยอมจำนนต่ออังกฤษในสงครามฝิ่น การที่อังกฤษยึดพม่าตอนใต้ได้ ทำให้ ร.4 ต้องเปลี่ยนนโยบายการติดต่อกับต่างประเทศจากที่เคยติดต่ออย่างระมัดระวังเป็นการยอมทำสนธิสัญญาตามเงื่อนไขตะวันตก และพยายามรักษาไมตรีนั้นไว้ให้ดีเพื่อความอยู่รอดของประเทศ
เซอร์จอห์น เบาว์ริง เกิดในครอบครัวนายพาณิชย์ที่มณฑลเดวอนไชร์ ในอังกฤษเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2335 เขาได้รับการศึกษาเป็นส่วนตัวขณะที่เริ่มต้นงานในบริษัทการค้าแห่งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.2350 เขาพูดได้หลายภาษาเช่น ฝรั่งเศส สเปน อิตาลี โปรตุเกส เยอรมัน ดัตช์ และใช้ภาษาสวีเดน เดนมาร์ก รัสเซีย อาหรับ จีน ฯลฯ ได้คล่องพอสมควรเขามีธุรกิจของตนเองและสนใจในเรื่องการเมือง ปรัชญาและวรรณคดีด้วย ในพ.ศ.2390 เบาว์ริงได้รับการแต่งตั้งเป็นกงสุลประจำเมืองกวางตุ้งในประเทศจีนซึ่งเขาได้ทำหน้าที่อย่างโดดเด่น พ.ศ.2397 เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำประเทศจีน ซึ่งเท่ากับได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตประจำราชสำนักของประเทศญี่ปุ่น สยาม เวียดนามและเกาหลี พร้อมกับดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและพลเรือโทของฮ่องกงด้วย หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรียทรงแต่งตั้งให้เขาเป็นอัศวินได้ไม่นานเขาก็มาอยู่ที่ฮ่องกง เบาว์ริงเป็นผู้ว่าการเมืองฮ่องกงและอัครราชทูตประจำประเทศจีนเป็นเวลา 9 ปี ภารกิจแรกสุดในบทบาททางการทูตของเขาคือ ภารกิจพิเศษในประเทศไทยหรือเป็นที่รู้จักกันดีในเวลาต่อมาคือการทำ “สนธิสัญญาเบาว์ริง” เมื่อพ.ศ.2398 ช่วงปลายรัชกาลที่ 4 และต้นรัชกาลที่ 5 เซอร์จอห์น เบาว์ริงได้รับแต่งตั้งเป็นอัครราชทูตไทยประจำลอนดอนและยุโรป ถือได้ว่าเป็น “ตัวแทนประจำคนแรกของไทย” มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ” เซอร์จอห์น เบาว์ริงถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2415 ขณะที่มีอายุ 80 ปี
สนธิสัญญาเบาว์ริงที่ลงนามในปี พ.ศ. 2398 มีสาระสำคัญดังนี้
  • สยามให้อังกฤษตั้งสถานกงสุลในกรุงเทพฯ และให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตแก่คนในบังคับอังกฤษ กงสุลอังกฤษเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาตัดสินคดีต่าง ๆ ทั้งคดีแพ่งและอาญาซึ่งคนในบังคับอังกฤษเป็นจำเลย โดยกงสุลจะลงโทษตามกฎหมายอังกฤษ ส่วนคดีที่คนในบังคับอังกฤษเป็นโจทก์และคนไทยเป็นจำเลยนั้น ให้ขึ้นศาลไทยซึ่งเป็นผู้พิจารณาลงโทษตามกฎหมายไทย ในกรณีนี้กงสุลอังกฤษจะเข้าไปร่วมทั้งการพิจารณาตัดสินได้
  • คนในบังคับอังกฤษมีสิทธิที่จะทำการค้าโดยเสรีตามเมืองท่าของสยาม (หัวเมืองชายทะเล) ทั้งหมดและสามารถพักอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เป็นการถาวร คนในบังคับอังกฤษสามารถซื้อหาหรือเช่าอสังหาริมทรัพย์ในปริมณฑลของกรุงเทพฯ คือในบริเวณ 4 ไมล์ หรือ 200 เส้นจากกำแพงพระนคร หรือตั้งแต่กำแพงเมืองออกไป เดินด้วยกำลังเรือแจวเรือพายทาง 24 ชั่วโมงได้ อนึ่งคนในบังคับอังกฤษได้รับอนุญาตให้เดินทางภายในประเทศได้อย่างเสรี โดยให้ถือในผ่านแดนที่ได้รับจากกงสุลของตน
  • มาตรการต่าง ๆ ทางภาษีอากรเดิมให้ยกเลิกและกำหนดภาษีเข้าและขาออกดังนี้
    • (ก) ภาษีขาเข้ากำหนดแน่นอนไว้ที่ร้อยละ 3 สำหรับสินค้าทุกประเภท ยกเว้นฝิ่นซึ่งจะปลอดภาษี แต่จะต้องขายให้แก่เจ้าภาษีฝิ่นเท่านั้น ส่วนเงินแท่งก็ปลอดภาษีเช่นกัน
    • (ข) ภาษีขาออกเก็บภาษีเพียงครั้งเดียวไม่ว่าจะเป็นภาษีภายในหรือผ่านแดนหรือส่งออก
  • พ่อค้าอังกฤษได้รับอนุญาตให้ซื้อและขายโดยตรงกับชาวสยามโดยไม่มีการแทรกแซงจากบุคคลที่สาม
  • รัฐบาลสยามสงวนสิทธิที่จะห้ามการส่งออกข้าว เกลือและปลา หากเห็นว่าสินค้าดังกล่าวอาจขาดแคลนได้
  • ไทยจะต้องปฎิบัติต่ออังกฤษเยี่ยงชาติที่ได้รับอนุเคราะห์ยิ่ง ซึ่งหมายถึงถ้าฝ่ายไทยยอมให้สิ่งใด ๆ แก่ชาติอื่น ๆ นอกจากหนังสือสัญญานี้ก็จะต้องยอมให้อังกฤษและคนในบังคับอังกฤษเหมือนกัน
  • สนธิสัญญาจะบอกเลิกไม่ได้การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อความใด ๆ ในสัญญาจะกระทำได้เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปีแล้ว และจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้งสองฝ่ายทั้งต้องแจ้งล่วงหน้า 1 ปี
สนธิสัญญาเบาว์ริงที่ลงนามในปี พ.ศ. 2398 นี้ได้กลายเป็นแม่แบบให้ประเทศต่าง ๆอีก 14 ประเทศเข้ามาทำสนธิสัญญาแบบเดียวกัน และไทยสามารถยกเลิกสนธิสัญญาไม่เสมอภาคนี้ได้เสร็จสิ้นสมบูรณ์เมื่อพ.ศ. 2481
ผลของสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีต่อไทยทางด้านการเมือง แม้การทำสนธิสัญญาครั้งนี้จะทำให้ไทยรอดพ้นจากการถูกอังกฤษใช้กำลังบังคับ แต่ไทยต้องเสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขต หรือเสียอำนาจอธิปไตยทางการศาล
ผลของสนธิสัญญาเบาว์ริงที่มีต่อไทยด้านเศรษฐกิจไทยต้องเสียอำนาจอธิปไตยทางการค้าให้อังกฤษเพราะไม่มีสิทธิควบคุมการค้าได้อย่างแต่ก่อน ระบบผูกขาดของพระคลังสินค้าและระบบการเก็บภาษีสินค้าแบบเดิมที่ใช้วิธีวัดความกว้างของปากเรือต้องยกเลิกไปเหลือเพียงการเก็บภาษีขาเข้าได้ไม่เกินร้อยละ 3 และเก็บภาษีสินค้าขาออกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในภาคผนวกของสัญญาเท่านั้น
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสนธิสัญญาเบาว์ริงจะทำให้รายได้ของไทยสูญหายไปเป็นจำนวนมากจากการยกเลิกระบบผูกขาดของพระคลังสินค้า แต่สนธิสัญญาเบาว์ริงก็ทำให้เกิดการค้าเสรีในรูปแบบใหม่ และทำให้การผลิตเพื่อค้าเพิ่มขึ้นเนื่องจากมีความต้องการจากต่างประเทศ โดยสินค้าที่ไทยผลิตเพื่อสนองความต้องการของตลาดภายนอกได้แก่ ข้าว ไม้สักและดีบุก
หนังสืออ่านเพิ่มเติม
- เบาว์ริง, จอห์น, เซอร์. ราชอาณาจักรและราษฎรสยามเล่ม 1. ชาญวิทย์ เกษตรศิริและกัณฐิกา ศรีอุดม, บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย, 2551.
- คำนำเสนอ, คำนำ เพ็ญศรี ดุ๊ก. การต่างประเทศกับเอกราชและอธิปไตยของไทย. กรุงเทพฯ : ราชบัณฑิตยสถาน, 2542.
- ศุภรัตน์ เลิศพาณิชย์กุลและธีระพงษ์ เขมฤกษ์อำพล. เอกสารการสอนชุดวิชาไทยศึกษา หน่วยที่ 1-7. พิมพ์ครั้งที่ 2 กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, 2537. หน่วยที่ 5

ความคิดเห็น

  1. Your Affiliate Money Printing Machine is ready -

    And making money online using it is as easy as 1---2---3!

    Here is how it all works...

    STEP 1. Input into the system what affiliate products the system will promote
    STEP 2. Add push button traffic (it LITERALLY takes JUST 2 minutes)
    STEP 3. See how the system grow your list and sell your affiliate products all on it's own!

    Are you ready to make money automatically??

    Click here to check it out

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น